นายแพทย์เจตน์ รัตนจีนะเป็นอาจารย์แพทย์ ฝ่ายเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันกำลังลาศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาการวิจัยทางการแพทย์คลินิกอยู่ที่ National Heart and Lung Institute, Imperial College London โดยได้รับทุนสำหรับอาจารย์แพทย์จากสภากาชาดไทย ในบล็อกนี้ นายแพทย์เจตน์บอกเล่าถึงสาเหตุที่ตัดสินใจศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในสหราชอาณาจักร และผลกระทบที่ได้รับจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบัน
ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทำให้ผมมาที่สหราชอาณาจักร
เมื่อพูดถึงสหราชอาณาจักร หลายคนอาจนึกถึง การแข่งขันฟุตบอลลีกส์ต่าง ๆ การดื่มชาสไตล์อังกฤษ หอนาฬิกาบิ๊กเบน การเดินสวนสนามข้างพระราชวังบักกิ้งแฮม สภาพอากาศขมุกขมัว หรือแม้กระทั่งภาพยนตร์อย่าง เจมส์ บอนด์ หรือ แฮรรี่ พอตเตอร์ แต่แท้จริงแล้ว สหราชอาณาจักร มีอีกสิ่งที่เป็นเลิศในระดับโลกที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานนั่นคือ ระบบการศึกษาแบบบริติช และความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมและการวิจัยทางการแพทย์
ต้องขอกล่าวถึงความชื่นชอบส่วนตัวก่อนนะครับว่า ผมเองมีความชอบศึกษาด้านประวัติศาสตร์ ในการพัฒนาประเทศไทยเรานั้นได้รับอิทธิพลแม่แบบการพัฒนามาจากสหราชอาณาจักร นับตั้งแต่อดีตมาหลายด้าน เช่น ระบบการเมืองการปกครอง ภาษา ศิลปวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เข้าสู่ประเทศไทยในยุคแรก ๆ รวมถึงการกีฬา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือรากฐานระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่เป็นเลิศในยุคแรกนั้นก็ได้รับการวางรากฐานมาจากระบบบริติช ในส่วนของการแพทย์นั้น สหราชอาณาจักรเป็นชาติที่มีความเป็นผู้นำนับตั้งแต่ช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม เช่น Edward Jenner ที่ศึกษาและค้นพบวัคซีนตัวแรกของโลกที่รักษาโรคไข้ทรพิษ หลายปีถัดมา Sir Alexander Fleming ค้นพบเพนนิซิลินที่เป็นยาปฏิชีวนะตัวแรกของโลก และในสาขาของผมคือระบาดวิทยานั้น John Snow นับได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกวิทยาการระบาดสมัยใหม่ของโลก ที่มีผลต่อการปรับปรุงการสาธารณสุขของทั้งโลกในเวลาถัดมา ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมมีความตั้งใจที่จะมาศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักร ในด้านเกี่ยวกับการวิจัยทางการแพทย์ครับ
ในส่วนของสาขาและหลักสูตรที่ผมมาเรียนต่อนั้น มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหราชอาณาจักรเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกในทุกสถาบันการจัดลำดับ มีอาจารย์ระดับโลกในทุกสาขาทางการแพทย์ และมีมหาวิทยาลัยที่เป็นอันดับหนึ่งของยุโรปในหัวข้อระบาดวิทยาโรคจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมที่ผมมาเรียน
ส่วนตัวผมชอบระบบการเรียน research degree ของสหราชอาณาจักร
ถึงแม้จะไม่มีการเรียนในห้องเรียนรวม แต่การเรียนการสอนจะเน้นที่การตั้งคำถามและการคิดเชิงวิพากษ์ การศึกษาเรียนรู้วิเคราะห์ข้อมูลด้วยตนเองตามที่อาจารย์ที่ปรึกษา (Supervisors) มอบหมายตั้งประเด็นคำถามในแต่ละสัปดาห์ ในสิ่งแวดล้อมที่มีความพร้อมทั้งสื่อการเรียนการสอน เครื่องมืออุปกรณ์วิจัย แล้วนำมาถกอภิปรายกับทีม การเรียนระดับปริญญาเอกแบบบริติชนั้นจะทำให้เรามีเวลาทบทวนตกผลึก รู้ลึกรู้จริงในสาขาที่เราศึกษา และเกิดผลดีต่อการเรียนรู้ในระยะยาว โดยเฉพาะในด้านการแพทย์ที่องค์ความรู้มีมากมายในปัจจุบัน และมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้ ช่วงเวลาเย็นตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สมาคมวิชาชีพและสมาคมวิชาการ เช่น Royal Society หรือ British Academy มักจะเชิญวิทยากรระดับโลกมาบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ ที่น่าสนใจที่อยู่นอกสาขาที่เราเชี่ยวชาญ กิจกรรมเหล่านี้มักเปิดให้นักศึกษาและบุคคลทั่วไปเข้าฟังได้ฟรี และที่สำคัญคือจากการเข้าร่วมงานเหล่านี้ ผมเองได้เรียนรู้ลักษณะนิสัยของคนบริติชในวงวิชาการที่มักจะคิดได้อย่างลุ่มลึกและเปิดกว้าง เป็นแนวทางเช่นกันครับ
สิ่งที่สำคัญอีกอย่างของการมาศึกษาต่อในสหราชอาณาจักรคือประสบการณ์การใช้ชีวิตนอกห้องเรียน กล่าวได้ว่า สหราชอาณาจักรตอบโจทย์ทุกความสนใจในด้านต่าง ๆ ทั้ง ดนตรี กีฬา ศิลปวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมทางสังคม โดยมีทั้งความหลากหลายและความเป็นนานาชาติ สำหรับผมเองชื่นชอบการเที่ยวชมตามพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับศิลปะและประวัติศาสตร์ซึ่งมีการจัดนิทรรศการเป็นอย่างดีและมักจะไม่มีค่าใช้จ่าย เช่น Victoria and Albert Museum ในช่วงปิดเทอมสั้น ๆ อาจชวนเพื่อน ๆ หรือทีมวิจัยไปเดินป่า เที่ยวชนบท เที่ยวอุทยานของ National Trust ที่มีอยู่ทั่วประเทศ หรือชมฟุตบอล
อ่านต่อด้านล่าง...